ความเป็นมาของกาแฟในไทย

THAI_coffee

ความเป็นมาของกาแฟในไทย

          คำว่า “กาแฟ”  มีปรากฏในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของคุณหมอบรัดเลย์  ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2416 ว่า “กาแฟ ต้นไม้อย่างหนึ่ง มาแต่เมืองนอก เม็ดมันต้มน้ำร้อน กินคล้ายใบชา”  นอกจากนี้ยังมีบันทึกว่าเมืองไทยปลูกกาแฟมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ว่ามีการปลูกกาแฟอย่างแพร่หลายจริงจังในสมัยรัตนโกสินทร์    พ.ศ. 2367 สมัยรัชกาลที่ 3 เพราะประเทศไทยเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ จึงได้มีการนำต้นกาแฟมาทดลองปลูกกันในพระบรมมหาราชวัง และแจกจ่ายให้เสนาบดีไปปลูกกัน

          ในสมัยรัชกาลที่ 4   สมเด็จพระมหาประยูรวงศ์ ท่านมีสวนกาแฟ เมื่อคราวได้ต้อนรับ เซอร์ยอร์น เบาว์ริ่ง ท่านได้มอบกาแฟให้ท่านเซอร์ไปเป็นตัวอย่างถึง 3 กระสอบ นอกจากนี้พ่อค้าชาวดัตซ์หรือชาวอังกฤษจากแหลมมาลายูอาจจะนำกาแฟเข้ามาแลกเปลี่ยนสินค้ากันกับพ่อค้าชาวไทย  จึงมีการนำพันธุ์กาแฟมาปลูกในพื้นที่ภาคใต้ เป็นกาแฟพันธุ์โรบัสต้าและสันนิฐานว่าได้นำมาปลูก ประมาณปี พ.ศ. 2447 ชาวไทยอิสลามชื่อ นายตีหมุน เป็นผู้นำมาปลูกครั้งแรกที่ตำบลบ้านตะโหนด  อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา   สันนิษฐานว่าได้นำมาจากประเทศอินโดนีเซีย เพราะช่วงนั้นประเทศอินโดนีเซียกำลังตื่นตัวการปลูกกาแฟโรบัสต้า   จากบันทึกของพระสารศาสตร์พลขันธ์ (นายเจรินี ชาวอิตาลี) กล่าวว่าประเทศไทยมีการนำพันธุ์กาแฟอาราบิก้าเข้ามาปลูกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 แล้ว ต่อมาในระหว่างปี พ.ศ. 2515 ถึง 2522 ได้มีการดำเนินโครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่นในเขตภาคเหนือ พบว่ากาแฟอาราบิก้ามีศักยภาพในการปลูกทดแทนฝิ่นได้ ในปี พ.ศ. 2523 จึงมีการส่งเสริมให้มีการปลูกกาแฟอาราบิก้าทดแทนฝิ่นจนถึงปัจจุบัน

          ส่วนวัฒนธรรมการดื่มกาแฟนั้น  มีการเปิดร้านกาแฟแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร โดยชาวอเมริกัน ซึ่งร้านตั้งอยู่ที่บริเวณสี่กั๊กพระยาศรี ต่อมาได้มีร้านขายของชำชื่อ ตุงฮูสโตร์ ได้ขายกาแฟยี่ห้อ ตุงฮู และในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าให้ตั้งร้านกาแฟชื่อนรสิงห์ ขึ้น ณ บริเวณริมถนนศรีอยุธยา ริมลานพระบรมรูปทรงม้า และต่อมามีการตั้งร้านกาแฟขึ้นอีกหลายร้าน ร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงจนถึงปัจจุบัน เช่น ออนล๊อกหยุ่น เอี๊ยแซ เป็นต้น

  **ที่มา สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)